ดึงหน้า ยกคิ้ว ดึงคอ

ดึงหน้า
Face Lift

 

ศัลยกรรม ดึงหน้า ยกคิ้ว ดึงคอ

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบนใบหน้า ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 25 ปี จะมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของกระดูกและฟัน มีการขยายขนาดและเปลี่ยนแปลงรูปร่างให้ใหญ่ ตามสัดส่วนของการเจริญเติบโต ขณะเดียวกัน ไขมันจะมีการสะสมที่แก้มเยอะขึ้นกล้ามเนื้อบนใบหน้ามีการขยายขนาดเต็มที่ ผิวหนังบนใบหน้า จะดูอูมอิ่มและเต่งตึงเต็มที่ เนื่องจากไขมัน คอลลาเจน และน้ำใต้ผิวหนัง ที่มีปริมาณมากทำให้ผิวหน้ามีความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นดีที่สุด ดังนั้นใบหน้าที่มีอายุประมาณ 20-30 ปี จะเป็นใบหน้าที่สวยสดงดงามที่สุด

              เมื่ออายุมากกว่า 30 ปี ขึ้นไปที่ใบหน้าจะเริ่มเห็นริ้วรอยตามตำแหน่งต่างๆ บนใบหน้าเช่น เส้นที่หน้าผาก โหนกแก้มห้อยลง (ดังปรากฏในรูปที่แสดง) ไม่กระชับเหมือนแต่ก่อน มีร่องจมูกลึกขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ ใต้คาง กราม เริ่มมีไขมันสะสมเป็นลูกๆ โครงสร้างของกระดูกและฟันจะยุบลงเนื่องจากแคลเซียมที่เป็นองค์ประกอบหลักของกระดูกและฟันสลายไป ทำให้กรามเล็กลงฟันห่างขึ้น โครงสร้างของก้อนไขมันและคอลลาเจนบนใบหน้าจะยุบตัวลง เหลือน้อยลงทำให้ผิวหนังบนใบหน้าแห้งและหยาบกร้าน ความยืดหยุ่นบนใบหน้าน้อยลง เส้นกล้ามเนื้อบนใบหน้ามีขนาดเล็กลง ทำให้ผิวหนังหย่อนคล้อยตามตำแหน่งต่างๆ บนใบหน้า

              เมื่ออายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป เริ่มจะยอมรับใบหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ค่อยได้ ต้องการจะมีการปรับเปลี่ยนรูปหน้า แก้ไขริ้วรอยและความหย่อนคล้อยของกล้ามเนื้อและผิวหนังส่วนเกินตามตำแหน่งต่างๆ เช่น หน้าผาก ตาบน ตาล่าง โหนกแก้ม กราม และใต้คางที่หย่อนคล้อย ให้ตึงกระชับขึ้น เก็บหนังส่วนเกินออก การผ่าตัดดึงหน้าจะช่วยให้รูปหน้ากลับมาดูดี มีใบหน้าดูอ่อนกว่าวัยเดียวกันประมาณ 10 ปี

วิธีการผ่าตัดดึงหน้าจะช่วยแก้ไขปัญหาความหย่อนคล้อยของหน้าผาก, แก้ม, คาง, และบริเวณคอซึ่งมักพบในคนอายุ 45 - 60 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจพบในคนที่มีอายุน้อยกว่าก็เป็นได้ ในบางรายมีไขมันสะสมในบริเวณแก้มและใต้คางก็จะใช้วิธีการดึงหน้าร่วมกับการดูดไขมันประกอบด้วย ผลของการผ่าตัดจะทำให้ คุณมีใบหน้าที่ดูอ่อนเยาว์และสดใสขึ้น ในการผ่าตัดดึงหน้า

.

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด 

  1. ปรึกษาศัลยแพทย์ เพื่อวางแผนการผ่าตัด

  2. ตรวจสุขภาพร่างกาย ตรวจเลือด, CBC, Electrolyte HIV, EKG, ความดัน, เบาหวาน

  3. งดยาแอสไพริน ก่อนผ่าตัดเพื่อป้องกันเลือดหยุดยาก

  4. งดสูบหรี่ก่อนผ่าตัด 1 อาทิตย์ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ผิวหนังไม่ดี จะทำให้แผลสมานกันได้ช้า

.

ตำแหน่งของแผลผ่าตัด:  จะอยู่บริเวณเหนือไรผมด้านบน ขอบด้านหน้าใบหู และซ่อนอยู่หลังใบหู

.

ขั้นตอนการผ่าตัด

  1. ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดดึงหน้าภายใต้การดมยาสลบโดยทีมวิสัญญีแพทย์ผู้เชียวชาญ

  2. ศัลยแพทย์จะเปิดแผลบริเวณขมับเหนือหูในไรผม โค้งลงมาบริเวณหน้าใบหู แล้วอ้อมไปด้านหลังใบหู หลังจากนั้นเปิดแยกชั้นของผิวหนังออกจากชั้นของไขมันและกล้ามเนื้อ ทำการดึงปรับชั้นของไขมัน และศัลยแพทย์จะเปิดเลาะลงไปในชั้นของ SMAS (Superficial Musculoponeurotic System) แล้วเย็บยกกระชับทำให้กล้ามเนื้อที่ใบหน้าตึงกระชับขึ้น

  3. ดึงผิวหนังมาปิดแล้วตัดส่วนที่เกินออก จากนั้นเย็บปิดแผลอย่างละเอียดด้วยไหมละลายเส้นเล็กสังเคราะห์ด้วยสารที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้

  4. ศัลยแพทย์อาจจะเปิดแผลเพื่อทำการดึงยกกระชับที่บริเวณใต้คาง หรือขอบไรผมหลังหู หรือขอบไรผมท้ายทอย ในกรณีที่ต้องดึงยกกระชับผิวหนังที่คอ

.

เวลาที่ใช้ทำการผ่าตัดดึงหน้า: ประมาณ 2 – 4 ชั่วโมง ภายใต้การดมยาสลบที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย

.

การดูแลแผลหลังผ่าตัด

  1. นอนศีรษะสูง เป็นเวลาประมาณ 1 - 2 อาทิตย์ เพื่อช่วยลดอาการบวม

  2. งดกิจกรรม การออกกำลังกาย ทุกชนิด ที่จะทำให้กระทบกระเทือนแผล ประมาณ 2 อาทิตย์ และห้ามไม่ให้แผลถูกน้ำเป็นเวลา 2 วัน

  3. สามารถสระผมเบาๆ ได้ หลังจากการผ่าตัด 2 วัน

  4. การตัดไหม 7 วัน หลังการผ่าตัดจะต้องตัดไหมส่วนที่อยู่หน้าใบหูและหลังใบหูก่อน และหลังผ่าตัด 14 วัน จึงจะตัดไหมส่วนที่เหลือที่อยู่บริเวณเหนือไรผมด้านบน ซึ่งผิวหนังบริเวณหนังศีรษะจะหนากว่าส่วนที่อยู่หน้าใบหู

  5. งดการรับประทานอาหารหมักดอง งดสูบหรี่ หลังผ่าตัด 1-2 อาทิตย์ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ผิวหนังไม่ดี จะทำให้แผลสมานกันได้ช้า

.

ปัญหาแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้

  1. เลือดซึม (Bleeding)

  2. อาการชา (Numb) ทีมแพทย์จะต้องใช้วิธีการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพและระมัดระวังสูง เพราะใบหน้าของคนไข้จะมีเส้นประสาทที่สำคัญๆ อยู่หลายเส้น ถ้าทำด้วยความไม่ระมัดระวังจะก่อให้เกิดปัญหาเส้นประสาทได้

  3. แผลเป็น (Scar) ที่อาจเกิดขึ้น

  4. คีลอยด์ (Keloid) อันเป็นผลจากความผิดปกติของกระบวนรักษาแผลตามธรรมชาติของร่างกายผู้เข้ารับการศัลยกรรม

.

รูปก่อนและหลังทำศัลยกรรมดึงหน้า

.

       

.

       

.

       

.