รักษารากฟัน

การรักษารากฟัน

การรักษารากฟันเป็นทันตกรรมเฉพาะด้านที่มุ่งเน้นการรักษารากฟันและเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟัน โดยการกำจัดเนื้อเยื่อโพรงฟันที่มีการอักเสบ ติดเชื้อ หรือตายออกไป เพื่อบรรเทาอาการปวด และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ จากนั้นจะอุดปิดคลองรากฟันด้วยวัสดุพิเศษที่มีคุณสมบัติเข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อในช่องปากและทำปฏิกิริยากับสารอื่นๆได้ยาก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแทรกซึมเข้าไปในคลองรากฟันได้อีก การตรวจพบว่ามีหนองเกิดขึ้นเป็นลักษณะที่แสดงว่าเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟันถูกทำลาย สาเหตุอาจเกิดจากการหัก ร้าว หรือผุ ลึกลงไปจนถึงชั้นเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟันซึ่งมีเส้นประสาทและเส้นเลือดอยู่ ก่อให้เกิดอาการปวดและบวมที่บริเวณนั้น บางครั้งอาจเกิดความเสียหายต่อกระดูกขากรรไกรหรือกล้ามเนื้อ รวมถึงการติดเชื้อและการอักเสบในโพรงฟัน การรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีจึงมีความสำคัญและช่วยให้ผู้ป่วยยังคงสามารถเก็บฟันซี่นั้นได้ โดยไม่ต้องถูกถอนทิ้งไป ฟันที่ได้รับการรักษารากฟันแล้วนั้นจะมีความแข็งแรงน้อยลง มีความเปราะบางมากขึ้น ดังนั้นการทำเดือยฟันและครอบฟันจึงมีความสำคัญเพื่อให้คงความสวยงาม เพิ่มความมั่นคงแข็งแรงและช่วยปกป้องฟันซี่นั้น ระยะเวลาที่มาพบทันตแพทย์เพื่อรักษารากฟันตั้งแต่ต้นจนเสร็จโดยประมาณคือหนึ่งถึงสามครั้ง ในครั้งแรกฟันที่ต้องรักษาจะถูกทำให้ชาด้วยยาชา และใส่แผ่นยางกันน้ำลาย

แผ่นยางกันน้ำลายที่ใส่ไว้รอบๆฟันที่รักษารากนั้นก็เพื่อป้องกันน้ำลายที่มีแบคทีเรียไม่ให้ปนเปื้อนเข้าไปขณะทำการรักษาอยู่ การรักษาเริ่มจาก ฟันจะถูกเปิดเป็นช่องเล็กๆเพื่อเข้าไปในโพรงฟันโดยทันตแพทย์ ซึ่งรูที่เปิดอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าเป็นฟันซี่ไหน ถ้าเป็นฟันหลังจะกรอเปิดทางด้านบดเคี้ยว ขณะที่ฟันหน้าจะเปิดทางด้านหลังของฟัน

การนัดหมายครั้งแรก

1.1 ทันตแพทย์จะทำการเจาะเปิดโพรงฟันเพื่อตัดเนื้อฟันที่ติดเชื้อออกไป.

 

 

1.2 ทันตแพทย์จะทำความสะอาดคลองรากฟันตลอดความยาวรากแต่ไม่เกินปลายราก และใส่ยาลงในคลองรากฟัน เพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรคที่อาจหลงเหลือ และป้องกันการกลับมาติดเชื้อ

หลังจากคลองรากฟันได้รับการฆ่าเชื้อแล้วนั้น ทันตแพทย์จะทำการอุดปิดคลองรากฟันด้วยกัตตาเปอร์ชา (ยางไม้) ส่วนรูที่เปิดด้านบนเพื่อเข้าทำความสะอาดคลองรากฟันจะถูกปิดด้วยวัสดุอุด

เมื่อการรักษารากฟันเสร็จสิ้นแล้วนั้น ฟันซี่ดังกล่าวต้องได้รับการบูรณะโดยวัสดุอุด หรือการใส่เดือยฟันและครอบฟัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและปริมาณเนื้อฟันที่เหลืออยู่.

 

 

 

 

การนัดหมายครั้งที่สอง

2.1 ทันตแพทย์จะเอาวัสดุอุดชั่วคราวออกและล้างยาที่ใส่ไว้ในคลองรากฟัน จากนั้นจึงอุดปิดคลองรากฟัน.

 

2.2 ใส่เดือยฟัน  กรอแต่งฟันสำหรับทำครอบฟัน  พิมพ์ฟันเพื่อทำครอบฟัน และใส่ครอบฟันชั่วคราวไว้ระหว่างรองานแลป ประมาณ 2-3 วัน จึงใส่ครอบฟัน.

การนัดหมายครั้งที่สาม

ใส่ครอบฟัน ในผู้ป่วยบางรายการรักษาคลองรากฟันเป็นเรื่องที่น่ากลัว บางครั้งอาจเพราะอาการปวดที่เกิดจากหนองทำให้กระทบต่อขั้นตอนการรักษาราก แต่ในการรักษาคลองรากฟันสมัยใหม่ อาการปวดจะน้อยมากเนื่องจากใช้ยาชาเพื่อระงับปวดระหว่างรักษา รวมถึงการให้ยาที่ใช้ระงับปวดก่อนและ/หรือหลังรักษา.