รักษาฟันทั่วไป

การตรวจสุขภาพฟัน

การตรวจสุขภาพของฟันและช่องปาก มีความจำเป็นสำหรับทุกๆ คน เพราะการรับประทานอาหารต่าง ๆเข้าไป ทำให้เกิดคราบต่าง ๆสะสมจนเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์และคราบหินปูนที่จะทำลายฟันได้ ดังนั้น คนไข้จึงควรตรวจสุขภาพฟันของตัวเอง เพราะถ้าเกิดมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นจะได้แก้ไขได้ทันที

- การตรวจเอ็กซ์เรย์

Radio graphic examination

การถ่ายภาพรังสีหรือเอ๊กซเรย์ นับเป็นขั้นตอนสำคัญอันหนึ่งในการตรวจวิเคราะห์โรคและรักษาทางทันตกรรม เนื่องด้วยการถ่ายภาพรังสีจะช่วยให้ทันตแพทย์มองเห็นลักษณะโครงสร้างฟัน กระดูก และเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆฟันได้ มีส่วนช่วยทันตแพทย์ในการวินิจฉัยโรค วางแผนการรักษา ตลอดจนการติดตามผลการรักษา

ขั้นตอนการถ่ายภาพรังสีทันตกรรม ทันตแพทย์หรือผู้ช่วยทันตแพทย์จะใส่เสื้อตะกั่วกันรังสีให้คนไข้ หลังจากนั้น ให้คนไข้กัดเบาๆบน "bite-wing" ซึ่งทันตแพทย์จะขอถ่ายประมาณ 2-4 ภาพ (ฟิล์ม) เนื่องจากปริมาณรังสีที่ใช้ถ่ายภาพรังสีทางทันตกรรมนั้นใช้น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับรังสีที่คนไข้ได้รับจากการรับชมโทรทัศน์หรือรังสีในสิ่งแวดล้อมทั่วไป กรณีการถ่ายภาพรังสีช่องปากขณะมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยง แต่ก็สามารถทำได้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ ควรแจ้งทันตแพทย์ทันที ทันตแพทย์ก็จะทำการถ่ายภาพรังสีของฟันโดยใช้เสื้อตะกั่วกันรังสีให้แก่คนไข้ และใช้ปริมาณรังสีน้อยที่สุด

การเอกซเรย์ฟันชนิดทั้งปาก (Panoramic) เป็นการถ่ายภาพรังสีที่สามารถแสดงให้เห็นภาพของฟันครบทั้ง 32 ซี่ ในช่องปาก กระดูก-ขากรรไกร รวมถึงข้อต่อขากรรไกร เพื่อประกอบการตรวจวินิจฉัย วางแผนการรักษาที่แม่นยำ

 

 

- ทันตกรรมอุดฟัน

   วัสดุอุดฟันคอมโพสิต

คอมโพสิตเป็นวัสดุอุดจำพวกเรซิน นิยมใช้กันมากเพราะมีเฉดสีที่ใกล้เคียงฟันธรรมชาติ มีความแข็งพอควร การยึดวัสดุอุดบนผิวฟันเป็นการยึดแบบพันธะเคมี ( chemical lock ) จึงไม่จำเป็นต้องกรอตัดเนื้อฟันมากเท่าการอุดด้วยอมัลกัม ซึ่งเป็นผลดีต่อโครงสร้างฟันได้ในระยะยาว

แต่มีข้อด้อยจากการเปลี่ยนสีหรือการติดสีลงบนผิววัสดุอุด อัตราการสึกกร่อน การรั่วซึม อาจจะสูงกว่าวัสดุอุดอมัลกัม แต่หากระมัดระวังในการใช้งาน หลีกเลี่ยงการกัดเคี้ยวอาหารแข็ง แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันเพื่อกำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์ให้สะอาด อายุการใช้งานของวัสดุอุดก็จะใกล้เคียงกับการอุดด้วยอมัลกัมได้เช่นกัน โดยสามารถอยู่ได้ประมาณ 10 ปี

วัสดุอุดฟันอมัลกัม

อมัลกัมเป็นโลหะผสมระหว่างปรอทผสมกับเงินและทองแดง เป็นที่นิยมในการอุดฟันมายาวนาน จุดเด่นของวัสดุอมัลกัมคือความแข็งแรง เนื่องด้วยมีโลหะเป็นส่วนผสม เหมาะสำหรับอุดฟันกรามที่ต้องรองรับแรงบดเคี้ยว การอุดฟันด้วยอมัลกัมมีข้อห้ามคือห้ามใช้ฟันที่อุดเคี้ยวอาหารหลังจากอุดมาใหม่ๆ เพราะต้องรอให้วัสดุแข็งตัว ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงหลังการอุด

วัสดุอมัลกัมนั้นไม่สามารถยึดติดกับฟันได้เอง ทันตแพทย์จึงต้องกรอฟันเพื่อให้วัสดุยึดติดได้ ซึ่งวิธีนี้จะสูญเสียเนื้อฟันค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการอุดด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงกันถึงเรื่องความปลอดภัยในการใช้วัสดุชนิดนี้ เนื่องจากอมัลกัมมีส่วนผสมของสารปรอท

การอุดปิดช่องห่างฟัน

การรักษาด้วยวิธีนี้คือการอุดปิดช่องบริเวณฟันหน้าเพื่อความสวยงามด้วยวัสดุคอมโพสิตเรซิน ช่องว่างที่สามารถทำได้ด้วยวิธีนี้ไม่ควรกว้างเกิน 2.5 มิลลิเมตร ซึ่งสำหรับช่องที่กว้างกว่านี้ การอุดวิธีนี้จะทำให้อัตราส่วนของฟันดูกว้างกว่าความเป็นจริง ไม่ได้สัดส่วนที่ถูกต้องและไม่สวยงาม และอาจก่อให้เกิดเหงือกด้านใต้อักเสบตามมาได้หากดูแลทำความสะอาดได้ไม่ดีเท่าที่ควร