ความเครียด กับการแสดงออกผ่านทางร่างกายและจิตใจ

พวกเรามีวิธีจัดการกับความเครียดอย่างไรกันบ้างคะ? วางแผนจัดการกับปัญหาต่างๆอย่างเป็นระบบ หลีกหนีไปหาที่สงบๆเพื่อผ่อนคลาย แต่กว่าปัญหาจะทุเลาเนี่ย ยังไงก็ต้องมีแอบไปหัวร้อน เอาหน้าซุกหมอนแล้วกรี๊ดดังๆกันบ้างล่ะ ใช่มั้ยคะ?

.

ซึ่งเอาจริงๆทุกคนก็รู้แหละ ว่าเราจะผ่านปัญหาต่างๆไปได้อย่างไร แต่ระหว่างที่ปัญหายังเกาะหลังเราเป็นลูกลิงลูกค่างอยู่นั้น ความหนักอึ้ง การขบคิด และการมองหาที่ระบาย หลายๆสิ่งมันยังคงอยู่กับเรา บางคนลุกไปอาบน้ำให้ตัวเย็น บางคนออกไปนั่งกินบุฟเฟต์กุ้งย่างที่ไหนสักแห่ง บางคนคงแค่นอนดู Netflix แล้วรอเวลาเหมาะๆที่จะคลี่คลายปัญหา แต่บางคนก็ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเลือกที่จะนั่งคิดไปกัดเล็บไป เลือกที่จะนอนคลุมโปงแล้วก็นอนไม่หลับ แม้หิวก็กินอะไรไม่ลง หนักๆหน่อยก็คงปาโทรศัทพ์หรือหนังสือในมือระบายอารมณ์ จะทางไหนๆก็คงต้องมีใครเคยทำกับบ้างล่ะ!

.

.

     เหล่านี้เป็นการแสดงออกของร่างกายเมื่อเผชิญกับปัญหาและความเครียดค่ะ และที่ว่าความเครียดนั้นส่งผลกับร่างกายก็เป็นเรื่องจริงกว่าที่หลายๆคนคิด เพราะร่างกายคนเรามีเส้นประสาทมากมาย และเส้นประสาทเหล่านั้นก็เชื่อมต่อกับทั้งผิวหนังและอวัยวะต่างๆ เมื่อจิตใจสร้างความเครียด สัญญาณนั้นก็จะส่งไปหาส่วนต่างๆของร่างกาย อาการนอนไม่หลับ ไมเกรน หรือที่คนชอบพูดกันว่า “เครียดลงกระเพาะ” มันก็มาจากสาเหตุนี้แหละค่ะ

.

.

     แล้วยิ่งเราสะสมความเครียด แรงกระเพื่อมของมันก็จะยิ่งส่งผลกันต่อไปเป็นทอดๆ เครียด กินอะไรไม่ลง พอกินไม่ลงก็นอนไม่หลับเพราะหิว พอนอนไม่พอร่างกายก็อ่อนแอ ปวดท้องเพราะหิวอีก เช้ามาก็เครียดๆๆๆ วนเป็นลูปไม่จบสิ้น กว่าปัญหาจะคลี่คลายสภาพนี่ดูไม่ได้เลยเชียวค่ะ ผิวพรรณซีดเซียว ใบหน้าหมองคล้ำ ฯลฯ เพราะฉะนั้น ในเมื่อเราจะต้องเจอปัญหาและความเครียดทุกวัน เราจะมีวิธีจัดการกับมันยังไง ลองมาดูกันค่ะ

.

.

     เพื่อดูและทั้งจิตใจและร่างกาย การจัดการกับปัญหาต่างๆอย่างเป็นระบบ เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆค่ะ เพราะอย่างที่บอกว่าร่างกายและจิตใจนั้นเชื่อมถึงกัน การจัดการที่ต้นเหตุเป็นสิ่งแรกที่คุณควรทำมากที่สุด เรามาลองดูวิธีง่ายๆสัก 2-3 วิธีดีกว่า เผื่อจะช่วยให้ใจเย็นได้ไม่มากก็น้อย

.

.

1.กำหนดลมหายใจ บางครั้งเวลาเกิดความเครียด การหายใจของเราจะรุนแรงกว่าปรกติโดยอัตโนมัติ ทำให้ร่างกายเรารับอ็อกซิเจนมากกว่าที่ควรเป็น ในรายที่เป็นหนักมากๆ ก็จะส่งผลให้ค่าสารเคมีในเลือดเกิดความผิดปรกติ สิ่งที่ตามมาคือ วิงเวียน ปากชา นิ้วมือนิ้วเท้าชา ถึงตอนนี้จะให้แก้ปัญหาตรงหน้าด้วยสติน่ะเหรอ? ฝันไปเถอะ!

.

วิธีแก้คือปรับลมหายใจค่ะ ค่อยๆหายใจให้ช้าลง ลดปริมาณการรับอ็อกซิเจนเข้าร่างกาย เริ่มแค่นี้ก่อนค่ะ เมื่อใจเย็นลงแล้วคุณจะคิดอะไรๆได้เป็นระบบ และดีขึ้นกว่าที่เคยแน่นอน

.

.

2.งานอดิเรก ไม่จำเป็นต้องเป็นงานอดิเรกที่เคยทำนะคะ อะไรก็ได้ ทำไปเลย! บางครั้งแค่ปลีกตัวออกจากปัญหาและไปผ่อนคลายอารมณ์สักพัก เมื่อเวลาผ่านไปความคิดเราจะเกิดช่องว่าง และสามารถรับอะไรๆด้านบวกเข้ามาเติมได้ค่ะ รวมถึงวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ที่ตอนแรกเราอาจจะคิดได้แหละ แต่ด้วยอารมณ์ที่ขุ่นมัว ทำให้เรายังไม่ยอมรับความคิดอะไรทั้งสิ้น เข้าใจอารมณ์คนเวลาหงุดหงิดใช่มั้ยคะ? ที่ไอ้นู่นก็ไม่อยากเอา ไอ้นี่ก็ไม่อยากได้ ฉะนั้นเมื่อเวลาที่ร่างกายเริ่มมีการผ่อนคลาย การยอมรับเรื่องต่างๆจะทำได้มากกว่าตอนเครียดๆค่ะ ออกไปวิ่ง ดูหนัง นั่งฟังเพลง ทำอาหาร อะไรก็ได้ค่ะ วางปัญหาและความเครียดลงสักพัก แล้วออกไปสร้างช่องว่างให้สมอง ร่างกายของเราก็จะสดชื่นขึ้นด้วยค่ะ

.

.

3.ขนมหวาน เย่! หัวข้อนี้คือดีงามสุดค่ะ ของหวานช่วยลดความเครียดได้จริงๆนะคะ เรียกได้ว่าไม่ต้องบอกก็คงรู้กันอยู่แล้ว แต่มันเป็นเพราะอะไรกันล่ะ?

.

อย่างเป็นทางการคือ ร่างกายคนเรามีการผลิตฮอร์โมนที่ชื่อ กลูโคคอร์ทิคอยด์ (Glucocorticoid) ออกมาเพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นจากความเครียด แต่ฮอร์โมนตัวนี้ยังมีผลต่อโรคอ้วนลงพุงและระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอด้วย หากผลิตออกมามากเกินไป มีงานวิจัยตัวหนึ่งบอกว่าน้ำตาลอาจช่วยลดปริมาณการสร้างฮอร์โมนดังกล่าว ฉะนั้นการบริโภคของหวานนอกจากจะช่วยให้เราอารมณ์ดีแล้ว ยังช่วยยับยั้งการผลิตฮอร์โมนตัวนี้ออกมาได้อีกด้วยค่ะ

.

…แต่ก็อย่ากินกันเพลินล่ะ หายเครียดแลกกับน้ำหนักก็ไม่ค่อยคุ้มเน้อ!

.

.

     จะเห็นว่าจากที่เขียนไปทั้งหมด ความเครียดมันไม่ได้แค่ทำร้ายจิตใจเราอย่างเดียว แต่มันยังส่งผลเสียไปถึงร่างกายเราอีกด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม เหมือนคนที่แบกหินก้อนใหญ่ไว้บนหลัง แต่ไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไร ห่วงโซ่ที่มัดตรึงเราอยู่เหล่านี้ เราสามารถคลายมันออกไปได้ง่ายๆค่ะ เพียงแค่วางมันลงสักครู่ รีเฟรชตัวเองใหม่ แล้วเมื่อพร้อมรับมือกับมัน เราก็ค่อยกลับมา ในเมื่อตอนนี้เรารู้แล้วว่าจะรับมือกับหินก้อนนั้นยังไง อะไรๆก็ไม่ใช่ปัญหาค่ะ

.

.

จำไว้ให้ขึ้นใจนะคะ ว่าจิตใจกับร่างกายนั้นสัมพันธ์กัน เมื่อจิตใจขุ่นมัวร่างกายก็จะอิดโรย แต่เมื่อไหร่ที่จิตใจเราร่าเริงแจ่มใส ร่างกายก็จะตอบสนองด้วยความแข็งแรงค่ะ

.

.

ขอบคุณข้อมูลจาก
webmd.com
mgronline.com